Wednesday, October 31, 2018

หนุมาน

         หนุมานเป็นลิง กายสีขาวสามารถแผลงฤทธิ์เป็น ๔ หน้า ๘ มือ หาวเป็นเดือนเป็นดาว มีกุณฑล  ขนเพชร  เขี้ยวแก้ว  มีตรีเพชรเป็นอาวุธประจำตัว  มารดาคือนางสวาหะ  ซึ่งถูกมารดาคือนางกาลอัจนาสาปให้ยืนตีนเดียวเหนี่ยวกินลม
         กำเนิดของหนุมานคือพระอิศวรแบ่งกำลังของพระองค์ให้พระพายนำไปพร้อมเทพอาวุธ คือ ตรี คทา และจักร ซัดเข้าปากนางสวาหะ แล้วให้พระพายคอยพิทักษ์นาง นางสวาหะจึงเป็นแม่ส่วนพระพายเป็นพ่อ ทันทีที่เหาะออกจากปากแม่ หนุมานก็มีรูปร่างใหญ่โตเท่ากับอายุ ๑๖ ปี สามารถแปลงกาย หายตัว และอยู่ยงคงกระพัน เมื่อตายหากมีลมพัดก็ฟื้น หนุมานถวายตัวเป็นทหารเอกของพระราม ซื่อสัตว์และจงรักภักดีต่อพระรามอย่างยิ่ง ช่วยรบจนสิ้นสุดสงคราม เมื่อเสร็จศึกพระรามให้หนุมานครองเมืองนพบุรี แต่ต่อมาหนุมานก็ถวายเมืองคืนพระรามแล้วลาไปบวชอยู่ในป่า หนุมานมีนิสัยเจ้าชู้ มีภรรยาหลายคน ได้แก่ นางบุษมาลี นางเบญกาย นางสุพรรณมัจจา นางวานริน นางมณโฑ นางสุวรรณกันยุมา
         หนุมานมีบุตร ๒ ตน ชื่ออสุรผัดที่เกิดจากนางเบญกายและมัจจุฉานุที่เกิดจากนางสุพรรณมัจฉา
(จากเรื่องรามเกียรติ์ ในหนังสือ ตัวเอกในวรรณคดี)

         ตลอดเรื่องรามเกียรติ์นั้น หนุมานผู้เป็นทหารเอกได้รับรางวัลจากพระราม ๓ ครั้ง
๑. ผ้าขาวม้า ได้ตอนที่หนุมานไปเผากรุงลงกา
๒. ธำมรงค์ ได้จากตอนที่ไปช่วยพระรามหลังจากที่ถูกไมยราพจับไปขังไว้ที่เมืองบาดาล
๓. เมืองนพบุรีพร้อมสนม ๕๐๐๐ นาง ได้ในตอนที่เสร็จศึกลงกาแล้ว
         เมื่อเสร็จศึกกรุงลงกาแล้ว พระรามได้สถาปนาให้เป็น "พระยาจักรกฤษณ์พิพรรธพงศา" และยกกรุงอยุธยาให้ครองกึ่งหนึ่ง แต่หนุมานได้ถวายคืนพระราม เพราะสำนึกว่าตนไม่สูงศักดิ์พอ พระรามจึงยกเมืองนพบุรีให้ครองแทน

พระราม

         
       
         พระรามเป็นโอรสของท้าวทศรถและนางเกาสุริยาแห่งกรุงอยุธยาหรืออโยธยา พระรามคือพระนารายณ์อวตารตามเทวบัญชาของพระอิศวร  เพื่อทำหน้าที่ปราบอธรรม  โดยเฉพาะทศกัณฐ์  ซึ่งมี ๑๐ พักตร์ ๒๐ กร และเหาะเหินเดินอากาศได้ ส่วนพระรามก็คือพระนารายณ์ในร่างมนุษย์ พระรามมีกายสีเขีย อาวุธประจำพระองค์คือศร ซึ่งเป็นอาวุธวิเศษที่พระอิศวรประทานให้ พระรามมีพระอนุชาต่างพระมารดา ๓ องค์ คือ พระพรต  พระลักษมณ์  และพระสัตรุด พระมเหสีของพระรามคือนางสีดา
          นางไกยเกษี  พระมารดาของพระพรต ได้ทวงสัญญาต่อท้าวทศรถ โดยขอให้พระรามออกเดินป่า ๑๔ ปี เพื่อให้พระพรตโอรสของนางได้ขึ้นครองเมืองก่อนด้วยความรักและกตัญญูต่อพระบิดา  ไม่ต้องการให้พระบิดาเสียสัจจะ  พระรามก็เต็มใจออกเดินป่าโดยมีพระลักษมณ์และนางสีดาติดตามไปด้วย
         เมื่อทศกัณฐ์ลักพานางสีดาไปกรุงลงกา  พระรามก็ออกติดตามต้องทำสงครามกับทศกัณฐ์และเหล่าอสูรนานหลายปี  พระรามได้กองทัพเหล่าวานรช่วยทำสงครามจนสามารถสังหารทศกัณฐ์และเหล่าอสูรได้  และรับนางสีดากลับคืนมา
(จากเรื่องรามเกียรติ์ ในหนังสือตัวเอกในวรรณคดี)


พระรามในความเชื่อของไทย
         ชาวไทยมีคติความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์ ถือเป็นพระนารายณ์อวตาร พระนามของกษัตริย์จึงมีคำว่า ราม อยู่ด้วยเสมอ เช่น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) หรือแม้กระทั่งในสมัยกรุงสุโขทัย ก็มีพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จนกระทั่งราชวงศ์จักรีก็ขานพระนาม กษัตริย์แต่ละรัชสมัยว่า สมเด็จพระรามาธิบดี เช่น พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 9 หรือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

Sunday, October 28, 2018

วิหยาสะกำ

        

         วิหยาสะกำ เจ้าชายรูปงามโอรสท้าวกะมังกุหนิง ขณะออกประพาสป่าได้พบรูปบุษบาที่ช่างวาดภาพของระตูจรกาทำหายระหว่างเดินทาง เพียงแค่เห็นภาพของบุษบา วิหยาสะกำก็ถึงกับหมดสติฟุบลงบนหลังม้า เมื่อกลับพระนครก็เพ้อถึงบุษบา รบเร้าให้พระบิดาไปสู่ขอ เมื่อท้าวกะหมังกุหนิงส่งทูตไปสู่ขอ ท้าวดาหาปฏิเสธเพราะได้ยกบุษบาให้จรกาแล้ว ท้าวกะมังกุหนิงจึงยกทัพมาตีเมืองดาหา แต่กษัตริย์วงศ์เทวัญทั้ง ๓ เมือง คือ กุเรปัน กาหลัง และสิงหัดส่าหรี ยกทัพมาช่วยป้องกันเมืองไว้ อิเหนาสังหารท้าวกะหมังกุนิง ส่วนวิหยาสะกำก็ถูกสังคามาระตา (น้องของมาหยารัศมีที่มอบตัวเป็นน้องของอิเหนา) ฆ๋าตายในสนามรบ
(จากเรื่องอิเหนา ในหนังสือ ตัวเอกในวรรณคดี)
         วิหยาสะกำ เป็นโอรสของท้าวกะหมังกุหนิง ซึ่งเกิดจากประไหมสุหรี เป็นหนุ่มรูปงาม ผิวพรรณผุดผ่อง มีฝีมือในการใช้ทวนเป็นอาวุธ จึงเป็นที่สุดสวาทของพระบิดา พระมารดายิ่งนัก แต่วิหยาสะกำมีจิตใจอ่อนไหวมาก วันหนึ่งได้ออกไปเที่ยวป่า องค์ปะตาระกาหลาก็แปลงเป็นกวางทองมาล่อไปจนพบรูปวาดของบุษบา ทำให้วิหยาสะกำคลั่งไคล้ใหลหลงจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ

จรกา

         
     
         ระตูจรกา เจ้าเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่ง รูปชั่วตัวดำ แต่ต้องการมีมเหสีรูปงาม จึงให้ช่างไปวาดรูปหญิงงามตามเมืองต่าง ๆ มาให้ดูแต่ก็ไม่ถูกใจ จนต่อมารู้ว่ายังมีหญิงงามเป็นที่เลื่องลืออีก ๒ นางคือนางจินดาส่าหรี ธิดาท้าวสิงหัดส่าหรีที่ยังไม่มีคู่ และนางบุษบาธิดาท้าวดาหาที่บิดาประกาศว่าจะยกให้กับคนที่มาสู่ขอ จึงให้ช่างไปวาดภาพ ๒ นางมา เมื่อระตูจรกาได้เห็นภาพนางบุษบาก็หลงใหลตนสลบลง เมื่อฟื้นขึ้นก็ขอให้พี่ชายคือระตูล่าสำไปสู่ขอนางบุษบา ท้าวดาหาก็ยกให้ ต่อมาเกิดศึกกะหมังกุหนิง ระตูจรกาและระตูล่าสำก็ยกทัพมาช่วยแต่มาไม่ทัน เพราะสงครามสิ้นสุดแล้ว
         นอกจากรูปร่างอัปลักษณ์แล้ว ระตูจรกายังมีกิริยาท่าทางเงอะงะ ไม่มีสง่าราศี แต่เมื่ออิเหนาลักพาตัวบุษบาไปแล้ว ท้าวกุเรปันก็เห็นใจ จึงสู่ขอนางจินดาส่าหรีธิดาแห่งเมืองสิงหัดส่าหรีมาเป็นมเหสีแทน
(จากเรื่องอิเหนา ในหนังสือ ตัวเอกในวรรณคดี)

         ธรรมชาติของผู้ชาย แม้จะขี้เหร่แต่ก็อยากมีเมียสวย  เมื่อได้ยินข่าวว่า บุษบา ธิดาของท้าวดาหา ซึ่งเป็นหญิงสาวแสนสวย เกิดมาพร้อมกับกลิ่นกายหอมอบอวลโดยไม่ต้องใช้โลชั่นบำรุงผิวขจัดริ้วรอย  ไม่ต้องอาบน้ำหอมจากปารีสก็หอมหวนชวนฝัน  เมื่อทราบดังนั้นจึงให้คนไปวาดรูปบุษบามาให้ชม ว่าจะสมคำร่ำลือหรือไม่ เมื่อได้เห็นรูปบุษบาแล้ว ท่านได้บรรยายอาการของจรกาไว้ดังนี้ 
               คลี่กระดาษดูรูปนางนารี
               ให้เปรมปรีดิ์ประฏิพัธผูกพัน
               พิศทั่วนรลักษณ์พักตรา
               ดั่งหยาดฟ้ามาแต่กระยาหงัน
               รสรักตรึงใจเพียงไฟกัลป์
               ทรงธรรม์ซวนซบสลบลง 

อิเหนา

       

         อิเหนาหรือระเด่นมนตรีเจ้าชายรูปงามแห่งดินแดนชวาผู้มีบุญญาธิการมาก เป็นนักรบที่เก่งกล้าไม่เคยแพ้ใคร มีกริชเป็นอาวุธประจำตัว เป็นโอรสท้าวกุเรปันและประไหมสุหรีแห่งเมืองกุเรปันท้าวกุเรปันได้หมั้นหมายอิเหนาไว้กับบุษบา ธิดาท้าวดาหา แต่เมื่ออิเหนาได้เห็นจินตะหรา ธิดาท้าวหมันหยาก็เกิดความพอใจ ถึงกับทิ้งบ้านเมืองไปอยู่เมืองหมันหยาและปฏิเสธการอภิเษกกับบุษบาซึ่งเป็นคู่หมั้น การกระทำของอิเหนาทำให้ท้าวดาหาประกาศยกบุษบาให้ใครก็ได้ที่มาสู่ขอ เมื่อระตูจรกามาสู่่ขอ ท้าวดาหาจึงยกให้ ต่อมาท้าวกะหมังกุหนิงยกทัพมาตีเมืองดาหา เพราะไม่ยกบุษบาให้วิวิหยาสะกำโอรส ท้าวกุเรปันจึงสั่งให้อิเหนายกทัพมาช่วยเมืองดาหาอิเหนาจึงจำใจจากจินตะหรายกทัพมาช่วยเมืองดาหาจนได้ชัยชนะ เมื่อเข้าเฝ้าท้าวดาหาได้พบบุษบาก็หลงรักทันที และไม่ยอมกลับไปหาจินตะหราอีก
         อิเหนาทำอุบายลักพานางบุษบาไปไว้ในถ้ำและได้นางเป็นชายา แต่ต่อมาก็พลัดพรากจากกันอิเหนาและบุษบาตางต้องตามหากันและกันจนพบกันในที่สุด
(จากเรื่องอิเหนา ในหนังสือ ตัวเอกในวรรณคดี)

         เรื่องอิเหนา หรือที่เรียกกันว่านิทานปันหยีนั้น เป็นนิทานที่เล่าแพร่หลายกันมากในชวา เชื่อกันว่าเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ของชวา ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 16 ปรุงแต่งมาจากพงศาวดารชวา และมีด้วยกันหลายสำนวน พงศาวดารเรียกอิเหนาว่า “ ปันจี อินู กรัตปาตี” แต่ในหมู่ชาวชวามักเรียกกันสั้นๆ ว่า “ปันหยี” ส่วนเรื่องอิเหนาที่เป็นนิทานนั้น น่าจะแต่งขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 หรือในยุคเสื่อมของราชวงศ์อิเหนาแห่งอาณาจักรมัชปาหิต และอิสลามเริ่มเข้ามาครอบครอง นิทานปันหยีของชวานั้น มีด้วยกันหลายฉบับ แต่ฉบับที่ตรงกับอิเหนาของเรานั้น คือ ฉบับมาลัต ใช้ภาษากวีของชวาโบราณ มาจากเกาะบาหลี
- กลอนแต่ละวรรค มีจำนวนคำระหว่าง ๗ – ๘ คำ
- การสัมผัสในจะมีทั้งสัมผัสพยัญชนะและสัมผัสสระเป็นคู่ ๆ ในแต่ละวรรค ทำให้เกิดเสียงเสนาะขึ้น เช่น
     ว่าพลางโอบอุ้มอรทัย       ขึ้นไว้เหนือตักสะพักชม
     เอนองค์ลงแอบแนบน้อง เชยปรางพลางประคองสองสม
     คลึงเคล้าเย้ายวนสำรวลรมย์    เกลียวกลมสมสวาทไม่คลาดคลาย
     กรกอดประทับแล้วรับขวัญ อย่าตระหนกอกสั่นนะโฉมฉาย
     ฤดีดาลซ่านจับเนตรพราย       ดังสายสุนีวาบปลาบตา


อุศเรน

         

         อุศเรนเป็นโอรสเจ้าเมืองลังกาคู่หมั้นของนางสุวรรณมาลี อุศเรนเดินทางมาเมืองผลึกเพื่ออภิเษก แต่เมื่อรู้ว่านางสุวรรณมาลีหายไปก็ออกตามหา จนพบพระอภัยมณีที่เกาะมหิงษะ และรับขึ้นเรือมาด้วย แล้วมาพบกับศรีสุวรรณและสินสมุทร ซึ่งนางสุวรรณมาลีก็อยู่ด้วย อุศเรนขอนางสุวรรณมาลีคืน แต่สินสมุทรไม่ยอมจึงต่อสู้กันอุศเรนแพ้กลับไปเมืองลังกา ส่วนนางสุวรรณมาลีก็อภิเษกกับพระอภัยมณี ได้ครองเมืองผลึกและมีธิดาฝาแฝด
         อุศเรนคิดแก้แค้นจึงยกทัพมาเมืองผลึกแต่พ่ายแพ้ พระอภัยมณีจะปล่อยไปแต่นางวาลีสนมของพระอภัยมณีกลับออกอุบายพูดจาเยาะเย้ยจนอุศเรนกระอักเลือดตาย กลายเป็นปีศาจเข้าสิงนางวาลีจนตายตามกันไป
(จากเรื่องพระอภัยมณี ในหนังสือ ตัวเอกในวรรณคดี)
         ละเวงวัณฬาเป็นธิดากษัตริย์เมืองลังกาและเป็นน้องของอุศเรนเมื่อพ่อและพี่ชายของนางตาย นางก็ครองเมืองแทนโดยมีตราราหูเป็นของวิเศษประจำตัว นางต้องการแก้แค้นแทนพ่อและพี่ชายจึงส่งภาพวาดของนางซึ่งทำเสน่ห์ไว้พร้อมกับแนบจดหมายชักชวนให้ทำศึกกับเมืองผลึกไปถึงเจ้าเมืองต่าง ๆ โดยสัญญาว่าถ้าใครมีชัยชนะ นางก็พร้อมจะเป็นภรรยาและยกเมืองลังกาให้ครองด้วย บรรดาเจ้าเมืองเหล่านั้นหลงรูปของนางจึงยกทัพมารบกับเมืองผลึก แต่ก็พ่ายแพ้ไปหมดทุกกองทัพ พระอภัยมณีจึงยกทัพไปตีเมืองลังกาบ้าง นางละเวงใช้วิธีทำเสน่ห์ให้พระอภัยมณีหลงรักนาง รวมทั้งให้ลูกเลี้ยงและนางบริวารทำเสน่ห์นายทัพฝ่ายพระอภัยมณีหมดสิ้น แล้วนางก็ยุให้พระอภัยมณีสู้รบกับกองทัพฝ่ายเมืองผลึก จนโยคีแห่งเกาะแก้วพิสดารมาเทศนาโปรด สันติสุขจึงกลับคืนมา เมื่อพระอภัยมณีออกบวช นางก็บวชตามไปปรนนิบัติรับใช้เช่นเดียวกับนางสุวรรณมาลี


สุดสาคร

       



         สุดสาครเป็นโอรสของพระอภัยมณีกับนางเงือก พระฤาษีให้นางเงือกอาศัยอยู่ที่อ่าวหน้าเกาะแก้วพิสดาร และช่วยเลี้ยงดูสุดสาคร สุดสาครได้เรียนวิชาคาถาอาคมกับฤาษีจนเก่งกล้า พออายุ ๓ ปี สินสมุทรก็จับม้านิลมังกรได้และนำมาเป็นพาหนะคู่ใจ แล้วขอลาพระฤาษีและมารดาไปตามหาพ่อ พระฤาษีจึงให้ไม้เท้าวิเศษไว้ป้องกันตัว ระหว่างทางสุดสาครถูกชีเปลือยหลอกผลักตกเหว ชิงไม้เท้าวิเศษไป แล้วหนีไปอยู่เมืองการะเวกพระฤาษีมาช่วยสุดสาครขึ้นจากเหว สุดสาครจึงตามไปเอาไม้เท้าวิเศษและม้านิลมังกรคืน เจ้าเมืองการะเวกรับสุดสาครเป็นโอรสบุญธรรม ให้เป็นเพื่อนกับธิดาชื่อนางเสาวคนธ์ และดอรสชื่อหัสไชย
         สุดสาครอยู่เมืองการะเวกถึง ๑๐ ปี ก็ทูลลาเจ้าเมืองการะเวกไปตามหาพ่อ นางเสาวคนธ์และหัสไชยติดตามไปด้วย ทั้งสามมาถึงเมืองผลึกขณะกำลังเกิดสงครามกับเมืองลังกา สุดสาครจึงช่วยพระบิดารบ เมื่อสงครามสงบพระอภัยมณีก็จัดงานอภิเษกให้สุดสาครกับนางเสาวคนธ์ และให้สุดสาครครองเมืองลังกา


(จากเรื่อง พระอภัยมณี ในหนังสือ ตัวเอกในวรรณคดี)

         ณ เกาะแก้วพิสดาร นางเงือกได้ให้กาเนิดบุตรชายที่เกิดจากพระอภัยมณี ชื่อ สุดสาคร พระฤๅษีที่อยู่ในเกาะแก้วพิสดารได้เลี้ยงดูและสั่งสอนวิชาต่างๆ ให้สุดสาคร สุดสาครจึงออกเดินทางตามหาพระบิดา ที่ออกจากเกาะแก้วพิสดารไป โดยมีสัตว์เป็นพาหนะคู่ใจ คือ ม้านิลมังกร ทั้งสองได้หลงไปในเกาะผีสิง จึงต้องต่อสู้กับพวกผีทั้งหมดในเกาะเป็นเวลานานพอสมควร จนเกือบจะเสียท่า แต่ก็รอดมาได้ด้วยความช่วยเหลือจากพระฤๅษี หลังจากนั้นสุดสาครได้เดินทางต่อจนพบกับชีเปลือย และถูกชีเปลือยใช้อุบายล่อลวงเอาม้านิลมังกรและไม้เท้าวิเศษจนถูกผลักตกหน้าผา เดชะบุญที่สุดสาครไม่ตายจึงกลับมาชิงไม้เท้าวิเศษและม้านิลมังกรคืนไปได้ที่เมืองแห่งหนึ่ง เจ้าเมืองแห่งนั้นได้รับอุปการะสุดสาครไว้เป็นลูกบุญธรรม จนสุดสาครโตขึ้น จึงออกเดินทางตามหาพระบิดาต่อ โดยครั้งนี้เจ้าเมืองการเวกให้เสาวคนธ์และหัสชัยซึ่งเป็นพระโอรสและพระธิดาของพระองค์ พร้อมทั้งกองเรือรบจานวนหนึ่งออกเดินทางไปกับสุดสาครด้วย ระหว่างทางกองเรือของสุดสาครถูกฝูงผีเสื้อยักษ์โจมตีและจับตัวเอาเสาวคนธ์และหัสชัยไป สุดสาครติดตามไปสังหารผีเสื้อยักษ์และชิงตัวทั้งสองคนกลับคืนมาได้สาเร็จและก็ได้พบพระบิดาในที่สุด

Sunday, October 21, 2018

สินสมุทร


         สินสมุทรเป็นโอรสของพระอภัยมณีกับนางผีเสื้อสมุทร มีรูปร่างเหมือนมนุษย์ แต่มีเขี้ยวเหมือนยักษ์ มีกำลังมหาศาลเหมือนแม่และเป่าปี่เก่งเหมือนพ่อ สินสมุทรรักนางสุวรรณมาลีเหมือนแม่จึงฝากตัวเป็นลูก เมื่อพากันลงเรือออกจากเกาะพิสดาร นางผีเสื้อสมุทรตามรังควานจนเรือแตก สินสมุทรจึงพานางสุวรรณมาลีว่ายน้ำไปจนถึงเกาะร้างแห่งหนึ่ง ได้พบกับเรือโจรสุหรั่ง อาศัยเรือโจรสุหรั่งเดินทางต่อ โจรสุหรั่อยากได้นางสุวรรณมาลีเป็นภรรยา สินสมุทรจึงฆ่าโจรสุหรั่งตาย และยึดเรือเดินทางไปจนถึงเมืองรมจักร ได้พบกับศรีสุวรรณผู้เป็นอา และชายาคือนางแก้วเกษรา กับธิดาชื่อนางอรุณรัศมี ต่อมาได้พบพระอภัยมณีกับอุศเรน คู่หมั้นของนางสุวรรณมาลี แต่สินสมุทรไม่ยอมคืนนางสุวรรณมาลีให้อุศเรน จึงเกิดสงครามที่ยืดเยื้อระหว่างเมืองผลึกกับเมืองลังกาซึ่งมีนางละเวงวัณฬาเป็นเจ้าเมืองเมื่อสงครามสงบลง พระอภัยมณีก็จัดงานอภิเษกให้สินสมุทรกับนางอรุณรัศมี และให้สินสมุทรครองเมืองผลึก
(จากเรื่อง พระอภัยมณี...ในหนังสือ ตัวเอกในวรรณคดี)